วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

การปักชำ

การปักชำ


การปักชำ คือการใช้ส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ราก ใบ หรือ ลำต้น ไปปักชำ และส่วนของพืชเหล่านี้จะเจริญงอกงามเป็นลำต้นต่อไป
การปักชำเป็นวิธีขยายพันธุ์พืชที่ดีวิธีหนึ่งซึ่งมีข้อดี ดังนี้
1. ประหยัดค่าใช้จ่าย
2. ขยายพันธุ์ได้ปริมาณมาก
3. ทำได้ง่ายโดยไม่ต้องอาศัยเทคนิคหรือความสามารถมาก
4. ต้นพืชเจริญเติบโตเร็ว โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน
5. พืชต้นใหม่ที่ได้จะมีลักษณะเหมือนต้นเดิมทุกประการ

วัสดุที่ใช้ในการปักชำ
กระบะ ดิน ทราบ แกลบ ปุ๋ยคอก ขุยมะพร้าว ใบไม้ผุ

การปักชำสามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. การปักชำราก เป็นการเอารากของพืชมาปักชำ อาจปักลงไปในดิน ในทราย หรือในเถ้าแกลบก็ได้ เพื่อส่วนของรากนั้นงอกเป็นลำต้นต่อไป พืชที่ใช้รากปักชำ เช่น มันเทศ สน สาเก เข็มอินเดียเป็นต้น วิธีการชำรากทำได้ ดังนี้
1.1 ตัดรากไม้ออกเป็นท่อนๆ
1.2 วางรากบนดิน การปักชำรากไม่นิยมปักในแนวตั้ง แต่นิยมวางในแนวนอน หรือวางในแนวเฉียงเล็กน้อย


2. การปักชำใบ โดยทั่วไปแล้วใบจะแตกเป็นกิ่งไม่ได้ แต่มีพืชบางชนิดสามารถนำใบมาปักชำให้เจริญเติบโตเป็นต้นต่อไปได้ เช่น ลิ้นมังกร กุหลาบหิน คว่ำตายหงายเป็น เป็นต้น การปักชำใบมี 4 วิธี

วิธีที่ 1 การปักชำโดยใช้ใบ
ให้นำใบที่ไม่ใช่ใบอ่อนมาตัดเป็นส่วนๆ หรือทั้งใบแล้วนำไปวางเป็นวัสดุ เช่น ทราย หรือดิน โดยให้ด้านบนของใบหงายขึ้น พืชที่นิยม เช่น คว่ำตายหงายเป็น กุหลาบหิน

วิธีที่ 2 การปักชำโดยใช้ก้านใบ
ให้ตัดก้านใบให้หลุดออกจากกิ่งแล้วนำไปปักชำก็จะเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ เช่น กุหลาบหิน

วิธีที่ 3 การปักชำโดยใช้ก้านใบที่ส่วนของกิ่ง
ให้เอาใบมา โดยเฉือนส่วนของกิ่งให้มีตาติดมาด้วย (มิใช่นำมาทั้งกิ่ง) แล้วนำไปปักชำ ส่วนตาที่ติดมากับกิ่งก็จะเจริญเติบโตเป็นต้นต่อไป วิธีนี้นิยมใช้กับ ฟิโลเดนดรอน ต้นยางอินเดีย

วิธีที่ 4 การใช้ใบติดกิ่งมาปักชำ
ให้ตัดกิ่งที่จะนำมาปักชำ โดยกิ่งนั้นต้องมีตาเดียว และมีใบติดมาด้วยแล้วนำส่วนของกิ่งบางส่วนปักลงในดินให้ใบ และกิ่งส่วนหนึ่งโผล่ขึ้นมา เพียงเล็กน้อย พืชที่นิยมขยายพันธุ์แบบนี้ ได้แก่ ฟิโลเดนดรอน

การปักชำกิ่ง
เป็นวิธีที่นิยมกันมากและทำกันมานานแล้ว เราไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันกับวัสดุที่ใช้ในการปักชำมากนัก ปัจจุบันนิยมกัน แพร่หลายเพราะประหยัดค่าใช้จ่าย ใช้ระยะเวลาสั้น และได้ลักษณะพันธุ์เดิม การปักชำกิ่งแบ่งเป็น 3 ประเภท
1. การปักชำกิ่งประเภทที่มีเนื้ออวบน้ำ เช่น ฤาษีผสม กิ่งชนิดนี้จะอ่อน บอบบาง และช้ำง่าย ฉะนั้นจึงต้องการความประณีต ในการปฏิบัติ คือต้องระวังในเรื่องความชื้น แสง และอุณหภูมิ
2. การปักชำกิ่งที่มีความแข็งของเนื้อไม้ปานกลาง เช่น ว่านกวนอิม อายุของกิ่งประมาณ 3 - 6 เดือน ผิวเปลือกของกิ่งมี สีอมเขียว ยังไม่เป็นสีน้ำตาล กิ่งประเภทนี้มีเนื้อไม้อ่อนไม่แข็งแรงนัก ฉะนั้นจึงควรระมัดระวังเรื่องน้ำ อุณหภูมิ และแสงสว่างให้มาก เพราะกิ่งประเภทนี้จะเหี่ยวแห้งได้ง่าย
2. การปักชำไม้ที่มีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป วิธีนี้นิยมกันมาก การเลือกกิ่งไม้ที่จะนำมาปักชำ ควรเลือกกิ่งที่มีสีน้ำตาล ก่อนปักชำควร ปักกิ่งชำให้มีตาอย่างน้อย 2-3 ตา การตัดควรตัดเป็นท่อน ๆ ขนาด ยาว 6-8 เซนติเมตร การตัดท่อนปลายกิ่งให้ตัดเหนือข้อ ส่วนท่อนโคนให้ตัดต่ำกว่าข้อ โดยตัดให้เฉียง เราไม่ควรตัดตรงข้อพอดี เพราะจะทำให้กิ่งสูญเสียอาหารไป นอกจากนี้ บริเวณข้อยังมีเนื้อเยื่อ อัดตัวแน่นและแข็งแรง ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำในกิ่งได้เป็นอย่างดี

การเตรียมกระบะชำ
ควรทำกระบะ ขนาดกว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 50 เซนติเมตร สูง 20 เซนติเมตรชั้นล่างวางอิฐหรือกรวด ชั้นบนใส่ทรายหยาบหรือเถ้าแกลบให้เหลือขอบกระบะไว้ 5 เซนติเมตร รดน้ำให้ชุ่มการปักชำกิ่ง หรือยอด ควรหาไม้สำหรับใช้ในการนำร่องก่อน ปักทำมุม 45 องศา แล้วจึงนำกิ่งที่จะปักชำใส่ลงไป ให้ส่วนโคนที่ตัดเป็นรูปเฉียงตรงรอยตัดคว่ำลง ให้ส่วนยอดโผล่พ้นวัสดุชำอย่างน้อย 1-2 ตา การดูแลกิ่งชำ รดน้ำกิ่งชำให้ชุ่ม เช้า เย็น ทุกวันจะช่วยให้กิ่งปักชำออกรากได้ดี เมื่อปักชำไปได้ประมาณ 3-4 สัปดาห์ รากจะงอก จึงย้ายไปปลูกในแปลง หรือในกระถางที่เตรียมไว้โดยใช้ช้อนปลูกแซะ หรือตักไปปลูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น