วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

การแปรรูปผลิตภัณฑ์

การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร
    การนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปจะช่วยป้องกันการล้นตลาดของผลิตผลสด ซึ่งช่วยยกระดับราคาผลิตผลไม่ให้ตกต่ำ การเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหารระดับอุตสาหกรรม ที่สามารถรับวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นอาหารจำนวนมากได้ การผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถขยายตลาดการค้าออกไปสู่ต่างประเทศ จะช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ประเทศได้เป็นอย่างดี
    เทคนิคในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรมีหลายขั้นตอน แต่ที่สำคัญและจะเป็นแรงจูงใจสามารถทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า คุ้มราคา และผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องมีความอร่อย ความสะอาด แบบคงเส้นคงวาหรือเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ใช่ทำครั้งแรกอร่อยทุกคนติดใจในรสชาติ สามารถทำรายได้ให้มากมาย พอเริ่มมีคนรู้จัก คุ้นตาชินต่อรสชาติ ก็จะเริ่มทำผลิตภัณฑ์เพื่อให้มีผลกำไรมากๆ ความสำคัญของรสชาติอาจด้อยไป สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทุกคนเสื่อมความศรัทธาได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึง
  1. ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและลูกค้า
  2. ต้องมีการวางแผนผลิตสินค้านั้นล่วงหน้า และเหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อสินค้านั้นจะมีต้นทุนต่ำขายได้ราคาสูง
  3. ต้องมีความสนใจ และตั้งใจต่อการทำผลิตภัณฑ์นั้น เพื่อให้มีความสม่ำเสมอของรสชาติและคุณภาพที่ดี
  4. ต้องคำนึงถึงความสะอาดความปลอดภัยเสมอ
  5. ต้องมีความรู้ในสารปรุงแต่งอาหารที่ใช้อย่างแม่นยำ การแปรรูปผลิตผลการเกษตร ถ้าต้องการให้ผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพดีจะต้องให้ความสนใจต่อสิ่งเหล่านี้
    1. การคัดเลือกวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปจะต้องมีลักษณะและคุณภาพตรงตามชนิดของอาหาร และต้องคำนึงถึงเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการเตรียมวัตถุดิบด้วย
    2. การแปรรูปเพื่อถนอมอาหารแบบใช้ความร้อนสูง จะช่วยทำลายจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งทำให้อาหารเน่าเสีย ทำลายเอ็นไซม์ สารพิษ พยาธิที่ไม่ทนต่อความร้อน การแปรรูปโดยใช้ความร้อน กระทำได้ 2 วิธี คือ
      1. การพาสเจอร์ไรซ์ คือ วิธีที่ถนอมอาหาร โดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิไม่สูงมากนักเพื่อทำลายแบคทีเรียพวกที่ไม่สร้างสปอร์ และพวกที่ก่อให้เกิดโรคแก่คน ส่วนจุลินทรีย์อื่นๆ ที่ทนความร้อนระดับพาสเจอร์ไรซ์จะเป็นสาเหตุทำให้อาหารเสียได้ ดังนั้น อาหารที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ต้องอาศัยความเย็นช่วยเก็บรักษา
      2. การสเตอริไลซ์ คือ วิชาการถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่าการพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งอาจเป็นอุณหภูมิสูงกว่าน้ำเดือด เพื่อทำลายจุลินทรีย์ทั้งหมดรวมทั้งสปอร์อาหารที่ได้จากการสเตอริไลซ์ จึงเป็นอาหารปลอดเชื้อ เก็บรักษาไว้ได้นาน โดยไม่ต้องใช้ความเย็นช่วย การสเตอริไลซ์น้ำนมวัว กระบวนการ UHT (Ultrahigh temperature) นิยมใช้อุณหภูมิ 135-150 0 ซ นาน 1-4 วินาที ซึ่งมีวิธีให้ความร้อน 2 แบบ คือ
        ก. ทางอ้อม เป็นการให้ความร้อนผ่านแผ่นแลกเปลี่ยนความร้อน
        ข. ทางตรง เป็นการใช้ไอน้ำร้อนจัดเป็นตัวกลางให้ความร้อน โดยอัดลงไปในอาหารโดยตรงแล้วจึงผ่านไปยังเครื่องระเหยน้ำส่วนที่เกินออกไปภายใต้ภาวะสุญญากาศ
    การแปรรูปอาหารโดยการทำให้แห้ง คือ การลดความชื้นของอาหารจนถึงระดับที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ได้ คือ มีค่าวอเตอร์แอกติวิตี้ (water activity : Aw) ต่ำกว่า 0.70 ทำให้เก็บอาหารได้นานอาหารแห้งแต่ละชนิดจะมีความชื้นในระดับที่ปลอดภัยไม่เท่ากัน เช่น ผลไม้แช่อิ่มเก็บที่ความชื้น ร้อยละ 15-20 ถ้าเป็นเมล็ดธัญชาติความชื้นระดับนี้จะเกิดรา
     การทำแห้งอาหารโดยทั่วไปจะอาศัยความร้อนส่งผ่านเข้าไปให้น้ำในอาหาร เพื่อทำให้น้ำในอาหารเคลื่อนที่และระเหยออกจากผิวอาหาร และประสิทธิภาพในการเคลื่อนของน้ำมาที่ผิวอาหาร ธรรมชาติของอาหาร ถ้าเป็นผักก็จะแห้งเร็วกว่าผลไม้ เพราะผลไม้มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย
     การทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ ในสมัยโบราณมักจะตากแดด ซึ่งไม่สามารถควบคุมความร้อนและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ จึงมีการสร้างตู้อบโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยแผงรับแสงอาทิตย์ซึ่งทำด้วยวัสดุใส แสงอาทิตย์ตกลงบนแผงรับแล้วทะลุผ่านไปยังวัสดุสีดำภายในตู้ และเปลี่ยนเป็นรังสีความร้อนไปกระทบอาหาร ความชื้นระเหยออกจากอาหารจะระบายไปโดยการหมุนเวียนของอากาศทางช่องลม นอกจากนี้ยังมีกระบวนการทำให้แห้งได้อีกหลายวิธี คือ  
  • การทำให้แห้งโดยใช้ลมร้อน (ตู้อบลมร้อน)
  • การทำให้แห้งโดยใช้ลูกลิ้ง
  • การทำให้แห้งแบบเยือกแข็ง
  • การทำให้แห้งโดยใช้ไมโครเวฟ
  • การทำให้แห้งโดยใช้วิธีออสโมซิส
วัตถุประสงค์ของการใช้วัตถุเจือปนอาหาร
  1. เพื่อสงวนคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร
  2. เพื่อยืดอายุการเก็บหรือช่วยให้อาหารนั้นมีคุณภาพคงที่ หรือช่วยปรับปรุงคุณภาพในด้านเกี่ยวกับ สี กลิ่น รส ลักษณะสัมผัสและลักษณะปรากฏ โดยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติหรือคุณค่าอาหาร
  3. เพื่อประโยชน์ในด้านเกี่ยวกับเทคนิคในการแปรรูปกรรมวิธีการแปรรูปการเตรียมวัตถุดิบ การบรรจุ การขนส่ง และอายุของการเก็บของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
ชนิดของสารเจือปนที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้
    กรด การใช้กรดในผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ เพื่อช่วยปรับปรุงกลิ่น รส และสีของผลิตภัณฑ์ให้ได้ขึ้น ป้องกันปฏิกิริยาการเกิดสีน้ำตาล และยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้เก็บผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น นอกจากนี้กรดยังช่วยลดอุณหภูมิที่ต้องใช้ในการแปรรูปของผลิตภัณฑ์ประเภทผักและผลไม้ การเลือกใช้กรดจะขึ้นอยู่กับชนิดของกรดที่มีอยู่มากในผลไม้/ผักนั้น ผลไม้ทั่วไปส่วนมากจะมีกรดซิตริก (กรดมะนาว) องุ่นมีกรดทาร์ทาริก (หรือเรียกว่า กรดมะขาม) เป็นต้น
    สารที่ให้คงรูป (แคลเซียมคลอไรด์) สารคงรูป เพื่อปรับปรุงคุณภาพทางด้านเนื้อสัมผัสของผัก และผลไม้ให้ดีขึ้น สารคงรูปที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ปูนขาว ปูนแดง และสารส้ม แต่เนื่องจากสารเหล่านี้ มักมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่มีผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันในอุตสาหกรรมการแปรรูปผักและผลไม้จึงใช้แคลเซียมคลอไรด์
    สารที่ใช้เพื่อป้องกันการเกิดสีน้ำตาล ส่วนมากใช้วัตถุเจือปนอาหารเพื่อป้องกันปฏิกิริยาดังกล่าว ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสารประกอบซัลไฟด์
    วัตถุกันเสีย เป็นสารประกอบเคมีที่ช่วยในการถนอมหรือยืดอายุการเก็บอาหาร หรือช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุในการเสียของผลิตภัณฑ์ประเภทผักและผลไม้
สารเจือปนที่ใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพผักและผลไม้อบแห้ง
  1. โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงโซดา) เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติเป็นด่างอ่อน นิยมเติมลงไปในน้ำลวก / น้ำแช่หลังลวก จุดประสงค์เพื่อปรับสภาพน้ำลวกให้เป็นด่าง ช่วยรักษาสีให้คงความเขียวสด ปริมาณที่ใช้ประมาณร้อยละ 0.5 นาน 5 นาที (คือ น้ำ 1 ลิตร ใช้ 5 กรัม)
  2. โซเดียมเมตาไบซัลไฟท์ใช้กรดสำหรับอาหาร เป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติ ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อรา ในผักและผลไม้ นอกจากนี้ช่วยให้ผลไม้คงสีธรรมชาติไว้มักจะผสมลงไปในน้ำเชื่อม รวมกับกรดมะนาว ในการแปรรูปผักและผลไม้แช่อิ่มแห้ง ควรใช้ในปริมาณร้อยละ 0.01-0.02 ก่อนใส่ลงในน้ำเชื่อม ควรละลายน้ำให้ เข้ากัน จึงใส่ป้องกันไม่ให้สารอยู่รวมตัวกันที่เดียว (น้ำเชื่อม 1 ลิตร ใช้กรดมะนาว 1 กรัม โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ 0.1-0.2 กรัม)
  3. กรดซิตริก (กรดมะนาว) ใช้กรดสำหรับอาหารนิยมเติมลงในน้ำลวก หรือน้ำสำหรับแช่ผักและผลไม้ ก่อนนำไปแปรรูป เพื่อช่วยปรับปรุงสีของผัก/ผลไม้ให้ขาว (น้ำ 1 ลิตร ใช้กรดมะนาว 5 กรัม แช่นาน 10-15 นาที)
  4. แคลเซียมคลอไรด์ ใช้กรดสำหรับอาหาร นิยมเติมลงในน้ำลวก/น้ำแช่ เพราะจะช่วยเพิ่มความคงตัวให้แก่ลักษณะเนื้อสัมผัส ผลิตภัณฑ์จะมีเนื้อแน่นขึ้น (น้ำ 1 ลิตร ใช้แคลเซียมคลอไรด์ 5 กรัม แช่นาน 15-20 นาที)
    เมื่อได้ทราบถึงหลักการเบื้องต้นของการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรมาแล้ว เรายังมีเรื่องของการนำมะนาวมาแปรรูปในแบบต่างๆ ที่สามารถทำให้คุณประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก อีกทั้งสามารถนำมาประกอบเป็นกิจการในลักษณะอุตสาหกรรมในครอบครัวได้อีกด้วย
การแปรรูปมะนาวสู่ระดับอุตสาหกรรม
    วิธีการที่จะทำการแปรรูปนั้นทำได้หลายวิธี ส่วนมากจะใช้เกลือ และน้ำตาล เป็นส่วนปรุงแต่ง และกรรมวิธีก็ไม่ยุ่งยากมากนักสามารถถ่ายทอดความรู้ และเทคโนโลยีอย่างง่ายให้แก่เกษตรกรได้อย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถร่วมกับผู้วิจัยที่ใช้แต่น้ำ โดยนำเปลือกมาแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น เปลือกมะนาวปรุงรสสามรส มะนาวแช่อิ่ม และร่วมวิจัยกับผู้ใช้เปลือกมะนาวเพื่อสกัดกลิ่นและน้ำมัน สามารถนำเอาผลมะนาวที่เอาเปลือกออกแล้วมาดองเค็มและทำหวานและเอาที่เป็นน้ำมาทำเป็นน้ำมะนาวพร้อมดื่ม และนำมะนาวผลมาดองเค็ม 3-4 เดือน แล้วนำไปทำแช่อิ่มสด แช่อิ่มแบบอบแห้ง มะนาวหยี ทอฟฟี่มะนาว มะนาวบด ละเอียดปรุงรสทำเป็นน้ำจิ้ม และทำซอสพริกมะนาวดอง มะนาวผงพร้อมดื่ม การแปรรูปมะนาวนั้นยังไม่แพร่หลายมากนัก เพื่อเป็นการใช้ประโยชน์ของผลมะนาวมากขึ้น จึงได้ทดลองทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อแนะนำสู่ประชาชนในพื้นที่ที่มีมะนาวมาก และนำไปผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่วัตถุดิบ และยังส่งเสริมให้เกษตรกรมีงานทำและเพิ่มรายได้ มะนาวปลูกได้ง่ายในดินแทบทุกชนิดทั้งในที่ลุ่มและที่ดอน มะนาวที่นิยมปลูกในประเทศไทยมี 4 พันธุ์ คือ
  1. มะนาวไข่ ยาวเล็กกลม เปลือกบางผิวเรียบ
  2. มะนาวหนัง ผลโตกว่ามะนาวไข่ กลมมน ค่อนข้างยาว เปลือกหนา ผิวหยาบ
  3. มะนาวแป้น ผลกลมแป้นเหมือนผลส้มเขียวหวานลูกใหญ่ ใบมีขนาดโตกว่ามะนาวไข่เล็กน้อย และฐานใบกว้างกว่ามะนาวไข่ ให้ผลดกน้ำมากและให้ผลตลอดทั้งปี
  4. มะนาวพันธุ์แม่ไก่ไข่ดก มะนาวพันธุ์นี้เมื่อออกใหม่ๆ ได้รับความสนใจจากผู้ตั้งชื่อคือ คุณพยนต์ เกษตรกรแห่งอ่าวอุดม จังหวัดชลบุรี มะนาวพันธุ์นี้โดยบังเอิญเป็นมะนาวที่งอกจากเมล็ดโดยที่ไม่ได้ตั้งใจปลูกโตขึ้นให้ผลดกเป็นพวงๆ ละ 8-9 ผล ผลมีลักษณะคล้ายไข่ไก่ จึงตั้งชื่อเล่นนั้นตามลักษณะใบและมีผลมีขนาดพอๆ กันกับมะนาวไข่ทั่วไปควรจัดไว้ในพวกมะนาวไข่แต่พิเศษ คือให้ผลดกเป็นพวงๆให้ผลผลิตสูง
    วิธีที่จะเก็บให้ได้ผลคุ้มจริงๆ ถึงแม้จะเก็บไว้ในตู้เย็น อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส ซึ่งก็เก็บได้ไม่เกิน 1 เดือน เช่นกัน การเก็บมะนาวสดที่ความชื้นสัมพัทธ์ ร้อยละ 85 ถึงร้อยละ 90 อุณหภูมิ 10-12 องศาเซลเซียส จะเก็บมะนาวไว้ได้ในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน หรือน้อยกว่า เนื่องจากมีการเน่าเสียจากเชื้อรา ในการเก็บควรจะหาทางลดปริมาณเชื้อราพวกนี้ โดยจุ่มในน้ำยา หรือรมยาพ่นยาฆ่าเชื้อราบนผิวมะนาวเสียก่อน และอายุการเก็บเกี่ยวก็สำคัญมาก มะนาวที่แก่จัดเกินไปเวลาเก็บก็จะทำให้เน่าเสียเร็ว ถ้าอ่อนเกินไปน้ำมะนาวจะมีรสขมและมีน้ำน้อย จึงจำเป็นต้องใช้มะนาวที่มีความแก่อ่อนกำลังดี สีเขียวจัดไม่มีโรคแมลงเจาะเน่า หรือช้ำมะนาวก็เช่นเดียวกับ สิ่งมีชีวิตทั้งหลายต้องการออกซิเจนในการหายใจ และคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ในบรรยากาศที่ไม่มีการควบคุมมะนาวจะหายใจในอัตราสูง ทำให้เน่าเสียเร็ว เวลาเก็บจึงต้องปรับสภาวะทำให้มะนาวหายใจช้าๆ สม่ำเสมอมะนาวจึงสดอยู่ได้นาน
ยาฆ่าเชื้อรา ( Fungicide ) ที่ใช้และปริมาณที่ใช้มีดังนี้
  1. Thiobensazole ร้อยละ 90 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 10 ลิตร แช่นานครึ่งนาที
  2. Manzate-D 24 กรัม ต่อ 20 ลิตร แช่นานครึ่งนาที
  3. Ben late 1 ช้อนโต๊ะ ต่อ 10 ลิตร แช่นานครึ่งนาที จะใช้ชนิดใดก็ได้ ตามสะดวกซึ่งจะให้ผลใกล้เคียงกัน
    ในระหว่างเดือนกรกฎาคม ถึง เดือนพฤศจิกายน เป็นฤดูที่มีมะนาวมากล้นตลาด ราคาตกต่ำเหมาะที่แม่บ้าน จะทำเป็นผลิตภัณฑ์ถนอมไว้รับประทานในครัวเรือนหรือทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน หรือทำเป็นอุตสาหกรรมภายในครอบครัวเป็นการเพิ่มรายได้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจของครอบครัว หรือจะคิดค้นหาวิธีเก็บถนอมมะนาวสดเก็บไว้รับประทานได้ในฤดูกาลที่ขาดแคลนและแพง เช่น การทำผลิตภัณฑ์มะนาวต่างๆ ดังนี้
  1. น้ำมะนาวสดๆ บรรจุขวดเก็บไว้ในตู้เย็น
  2. น้ำมะนาวแช่แข็ง
  3. เยลลี่มะนาว
  4. ทอฟฟี่มะนาว
  5. มะนาวดอง
  6. เปลือกมะนาวแห้งสามรส
  7. แยมผิวมะนาว (มาร์มาเลด)
การแปรรูปมะนาวสดแช่แข็ง
    คนไทยตั้งเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับคุณภาพน้ำมะนาวไว้สูงมาก คือ น้ำมะนาวคั้นจากผลสด ไม่มีรสขม ไม่เปลี่ยนรส ข้อสำคัญต้องมีกลิ่นหอมของมะนาวสด จึงจะนำไปปรุงรสอาหารประเภทอาหารยำ ต้มยำ ส้มตำ น้ำพริกมะนาว น้ำพริกกะปิ และ อาหารไทยอื่นๆ
    น้ำมะนาวสดจะเปลี่ยนรสชาติทันทีถ้ากระทบกับความร้อน กลายเป็นน้ำมะนาวต้มและมีรสขม น้ำมะนาวจะตกตะกอนแยกชั้น จึงไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ร้านอาหารก็ไม่อาจใช้มะนาวที่มีคุณภาพเปลี่ยนไปปรุงอาหารได้ น้ำมะนาวที่เก็บค้างไว้นานเกิน 6 ชั่วโมง โดยไม่เก็บรักษาในสภาพเย็น น้ำมะนาวสดทีคั้นจะเสื่อมคุณภาพ มีรสชาติเปลี่ยนไป มีรสขมและกลิ่นคล้ายของดอง สาเหตุเกิดจากการทำงานของเอนไซต์และการสัมผัสอากาศ ดังนั้นการเก็บรักษาน้ำมะนาวสดให้คงคุณภาพเดิมจะเปลี่ยนไปน้อยที่สุด นั่นคือ การเก็บถนอมโดยการแช่แข็งน้ำมะนาวสดที่อุณหภูมิ – 30 องศาเซลเซียส (อย่างต่ำ – 20 องศาเซลเซียส) เพื่อเปลี่ยนสภาพน้ำมะนาวสดในรูปของเหลว กลายสภาพเป็นของแข็ง (น้ำแข็ง) น้ำมะนาวแช่แข็ง จะเก็บรักษาได้นานเกิน 6 เดือน โดยคุณภาพใกล้เคียงของสดมากที่สุด
    ได้ทดลองคืนสภาพน้ำมะนาวกลับไปกลับมาในรูปของเหลวและของแข็ง คุณภาพมะนาวยังคงเดิม ดังนั้นวิธีนี้จึงเหมาะสมที่ร้านอาหารและภัตตาคารจะนำไปใช้เก็บน้ำมะนาวที่มากในฤดูฝน และคืนสภาพเป็นน้ำมะนาวไว้ใช้ในฤดูร้อน ค่าใช้จ่ายต่อน้ำมะนาวแช่แข็งจะตกไม่เกิน 1 บาทต่อกิโลกรัม น้ำมะนาวต่อเดือน
    ทุกคนจะคิดในทางเดียวกันว่าการใช้วิธีแช่แข็งเก็บน้ำมะนาวสด จะมีต้นทุนแพงมากขอตอบว่าคุ้มมาก ไม่แพงอย่างที่คิดเพราะน้ำมะนาว 1 กิโลกรัม จะได้จากผลมะนาวสดขนาดกลาง จำนวน 60 ผล หรือเฉลี่ย 1.6 สตางค์ ต่อผล ต่อเดือน หรือ 9.6 สตางค์ต่อผลต่อ 6 เดือน หากพิจารณาความสะดวกในการใช้น้ำมะนาวก็เกินคุ้ม
การแปรรูปน้ำมะนาวแช่แข็งมีขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้
  1. จัดซื้อมะนาวที่แก่เต็มที่ผิวเปลือกยังคงสภาพเขียวทั้งผล
  2. ล้างผิวมะนาวให้สะอาด ไม่มีคราบสกปรก และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง
  3. วางให้สะเด็ดน้ำและพักให้ผิวแห้ง
  4. เตรียมอุปกรณ์ ได้แก่ มีด เขียง ถัง และถาดให้พร้อมในสภาพที่ทำความสะอาดแล้ว
  5. ผ่าครึ่งผลมะนาว
  6. คั้นมะนาว ใช้เครื่องคั้น ใช้เครื่องบีบ หรือคั้นด้วยมือก็ได้
  7. แยกเมล็ดที่ตกค้างในน้ำมะนาวออกให้หมด
  8. รีบบรรจุน้ำมะนาวใส่ถาดพลาสติกชนิดเย็นและหนาขนาด 100 กรัม หรือตักใส่ถาดพลาสติกสูงไม่เกิน 1 นิ้ว หรือใช้ถาดทำน้ำแข็งเป็นหลุมๆ ห้ามคั้นน้ำมะนาวทิ้งค้างไว้นานเกิน 1 ชั่วโมง ต้องรีบแช่แข็ง
  9. วางในตู้เย็นชั้นน้ำแข็ง หรือตู้แช่แข็งที่มีอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส หรือห้องแช่แข็ง -20 อาศาเซลเซียส
  10. ประมาณ 6 ชั่วโมง น้ำมะนาวจะเปลี่ยนเป็นน้ำแข็งอย่างสมบูรณ์
  11. สำหรับภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำมะนาวเป็นถุงพลาสติกมีการผลึกปากถุงให้แน่น น้ำไม่ระเหยไปไหน สำหรับถาดน้ำแข็งเป็นหลุม และถาดเปิด ต้องนำออกมาปิดด้วยแผ่นพลาสติก เพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ เพราะในตู้แช่แข็งจะมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำมาก จึงสูญเสียน้ำไม่ควรใช้พลาสติกบางชนิดย่น เพราะจะปริแตกและน้ำระเหยได้
  12. แม่บ้านที่เตรียมน้ำมะนาวเองใส่ถาดน้ำแข็งจะนำมาเก็บในกล่องเก็บน้ำแข็งก็ได้ แต่ต้องปิดปากกล่องให้แน่นเวลาใช้ก็นำมาใช้ทีละก้อนจนกว่าจะหมด
  13. สำหรับร้านค้าและภัตตาคาร ก็ใช้ชนิดบรรจุพลาสติกจะสะดวกที่สุด หากเหลือใช้ก็มัดปากถุงเก็บใส่ตู้เย็นได้อีก
  14. สำหรับผู้สนใจทำเป็นการค้าหรือธุรกิจก็มีสูตรและกรรมวิธีการทำน้ำมะนาวแช่แข็งโดยเฉพาะติดต่อภาควิชาพัฒนาผลิตภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การเก็บรักษามะนาวในระดับการค้า
  1. เก็บเกี่ยวด้วยความประณีต
  2. คัดเลือกเฉพาะผลที่มีสีเขียวเข้มและมีขั้วติด ไม่มีบาดแผล รอยช้ำ โรค หรือแมลง
  3. ล้างทำความสะอาดด้วยคลอรีน 200 ppm
  4. แช่ยากันรา ในกลุ่ม Benzimidazale 500-1,000 ppm ผสม GA 200 ppm
  5. บรรจุในถุงพลาสติกเจาะรู
  6. เคลือบผิวด้วยสารเคลือบผิว
  7. บรรจุในตะกร้า
  8. เก็บรักษาที่อุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 90-95
  9. ควบคุมบรรยากาศให้มีออกซิเจน ร้อยละ 10
  10. กำจัดเอธิลีนออกจากห้องเก็บรักษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น