วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

การเพาะพันธ์ปลาหมอ

เพาะเลี้ยงปลาหมอ สูตรสำเร็จ ของ ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ประมงน้ำจืดปัตตานี ตอน 1

ไชย ส่องอาชีพ

เพาะเลี้ยงปลาหมอ สูตรสำเร็จ ของ ศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ประมงน้ำจืดปัตตานี ตอน 1

"ปลาหมอ"ในบรรดาสัตว์น้ำจืดด้วยกัน มิเป็นสองรองใคร เนื่องจากเนื้อรสชาติดี และตลาดมีความต้องการตลอดด้วย

ตามตลาดสดทั่วๆ ไป ราคาซื้อขายกันกิโลกรัมละ 100 บาทเศษ ส่วนปลาตัวเล็กหรือขนาด 8-12 ตัวกิโลกรัม ราคาอยู่ที่ 70-90 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลและสถานที่ขาย

แม้ว่าราคาโดยรวมสูงกว่าปลาทั่วๆ ไป แต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ไม่เพียงมีรสชาติดีเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาประกอบอาหารหรือแปรรูปได้หลายอย่าง อาทิ ฉู่ฉี่ปลาหมอ แกงส้ม ต้ม ทอด และย่างราดน้ำเกลือ เป็นต้น

เมื่อก่อนในธรรมชาติมีปลาชนิดนี้อยู่มาก แต่ปัจจุบันนี้มีน้อย เพราะว่าสภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำเปลี่ยนไป ขณะเดียวกันผู้คนนิยมบริโภคกันมากขึ้น ส่งผลให้ปลาในธรรมชาติมีปริมาณลดลง และส่วนใหญ่เป็นปลาขนาดเล็กเกือบทั้งนั้น ยกเว้นในแหล่งน้ำที่สมบูรณ์ไม่ค่อยมีใครไปบุกรุกหรือจับสัตว์น้ำมาขายมักจะพบเห็นปลาหมอตัวใหญ่ 3-4 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง ให้ราคารับซื้อดีด้วย

มิแปลกที่กรมประมงให้ความสนใจในด้านการศึกษาวิจัยการเพาะขยายพันธุ์ปลาหมอ เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้กับ คุณศราวุธ เจ๊ะโส๊ะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานี พร้อมคณะ ศึกษาวิจัยมานานกว่า 10 ปี และขณะนี้ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง สามารถจับปลาจากธรรมชาติมาเลี้ยงในบ่อดินเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ออกลูกออกหลานได้ โดยไม่ต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้นอะไรเลย

"ผมศึกษาเรื่องนี้ตั้งแต่ทำงานอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ช่วงนั้นกำลังสร้างเขื่อนที่ปากพนังอยู่ เพื่อป้องกันไม่น้ำเค็มรุกเข้ามาในพื้นที่ที่น้ำจืด ซึ่งเมื่อก่อนนั้นชาวบ้านจะยึดอาชีพเลี้ยงกุ้งลาดำเป็นหลัก เราเป็นเจ้าหน้าที่ประมง จำเป็นต้องคิดและทำ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน โดยทดลองนำปลาหมอที่อยู่ในธรรมชาติมาฉีดฮอร์โมนเพาะขยายพันธุ์ เพื่อผลิตลูกปลาให้ชาวบ้านเลี้ยงแทนกุ้งกุลาดำ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมาระดับหนึ่ง แต่มาระยะหลังนี้ผมได้ศึกษาลงลึกถึงการเลี้ยงอย่างไร ที่ให้ผลกำไรสูงสุด และวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปลาธรรมชาติด้วย"คุณศราวุธ เล่าถึงความเป็นมาและการพัฒนางานศึกษาวิจัย

แม้ว่าปัจจุบันนี้คุณศราวุธได้ย้ายที่ทำงานมาอยู่ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดปัตตานีก็ตาม แต่ยังนำความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวมาเผยแพร่ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านจังหวัดปัตตานีมีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้นด้วย

"ผมว่าปลาหมอนี้เป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างแท้จริง มีตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย เกาหลี ไต้หวัน จีน และตลาดตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ปลาหมอยังมีคุณสมบัติเด่นในการเลี้ยงด้วย คือสามารถเพาะเลี้ยงในอัตราความหนาแน่นสูง และเจริญเติบโตในภาวะคุณสมบัติของดินและน้ำที่แปรปรวนสูงได้ทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย อีกทั้งน้ำค่อนข้างเป็นกรดหรือพื้นที่ดินพรุ ดินเปรี้ยว ตลอดจนนาข้าว นากุ้งทิ้งร้างได้ และสามารถขนส่งในรูปปลาสดมีชีวิตระยะทางไกลๆ อันสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ ที่นิยมใช้ปลาสดมีชีวิตประกอบอาหารได้"คุณศราวุธ กล่าว

ปลาหมอ อดทนสูง

ปลาหมอ มีชื่อสามัญว่า Climbing Perch และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Anabas testudineus เป็นปลาที่มีความทนทาน ทรหด อดทนสูง เพราะว่ามีอวัยวะพิเศษช่วยหายใจ (labyrinth organ) จึงอาศัยอยู่ได้ในบริเวณที่มีน้ำน้อยๆ หรือที่ชุ่มชื้นได้เป็นเวลานาน พบทั้งแหล่งน้ำนิ่งและน้ำไหล เมื่อก่อนมีให้เห็นมากในแถบจีนตอนใต้ อินโดจีน ไทย มลายู พม่า อินเดีย ศรีลังกา เกาะฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย

ปลาชนิดนี้ปรับตัวเจริญเติบโตเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นน้ำกร่อย ป่าจากหรือที่ลุ่มดินเค็มชายฝั่งทะเลที่มีความเค็มไม่เกิน 10 ส่วน ใน 1,000 ได้อย่างสบายเลยทีเดียว

ในธรรมชาติเป็นปลาผู้ล่า (predator) กินสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่า ชอบกินอาหารที่ผิวน้ำและกลางน้ำ อย่างไรก็ตาม สามารถกินเมล็ดข้าว ธัญพืช ปลวก ตัวอ่อนแมลงน้ำ ตั๊กแตน กุ้งฝอยหรือลูกปลาเล็กปลาน้อยที่มีชีวิตหรือตายเป็นอาหาร

สำหรับรูปร่างลักษณะของปลาหมอนั้น มีลำตัวป้อมค่อนข้างแบน ความยาวประมาณ 3 เท่า ของความลึก ลำตัวมีสีน้ำตาลเหลืองปนดำ ส่วนท้องสีจางกว่าส่วนหลัง เกล็ดแข็ง ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง 17-18 ก้าน และก้านครีบอ่อน 9-10 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 9-10 ก้าน และก้านครีบอ่อน 10-11 ก้าน

ครีบท้องมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 5 ก้าน ครีบอกมีก้านครีบอ่อนทั้งหมด 15 ก้าน กระดูกสันหลังมี 26-28 ข้อ ตำแหน่งตั้งต้นของครีบหลัง ครีบอก ครีบท้อง อยู่ในแนวเดียวกัน

"เส้นข้างลำตัวแบ่งขาดเป็น 2 ตอน จำนวนเกล็ดบนเส้นข้างลำตัวตอนบน 14-18 เกล็ด ตอนล่าง 10-14 เกล็ด ปลายกระดูกกระพุ้งแก้มมีลักษณะเป็นหนามหยัก แหลมคมมาก และส่วนล่างของกระพุ้งแก้มแบ่งแยกอิสระเป็นกระดูกแข็งสำหรับปีนป่าย กระดูกกระพุ้งแก้มงอพับได้ หางเป็นแบบมนกลมเล็กน้อย ตามลำตัวมีแถบสีดำ 7-8 แถบ และที่โคนหางมีจุดสีดำกลม ซึ่งซีดจางหายไปได้เมื่อเวลาตกใจ ปากอยู่ตอนปลายสุดของหัวและเฉียงขึ้นเล็กน้อย ริมฝีปากยืดหดไม่ได้ มีฟันแหลมคม เหนือริมฝีปากบนก่อนถึงตาทั้งสองข้าง เป็นหนามแหลมดำ บริเวณหนามแหลมของปลากระดูกกระพุ้งแก้มจะมีลักษณะคล้ายเนื้อเยื่อสีดำติดอยู่ทั้งสองข้าง"

ปลาหมอมีอวัยวะช่วยหายใจ อยู่ในช่องเหงือกใต้ลูกนัยน์ตา จึงทำให้สามารถอยู่บนบกได้นานๆ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางท่านให้ข้อสังเกตว่า ปลาหมอ ปลาตีน และปลาปอด อาจเป็นรอยต่อหรือสะพานทางพันธุกรรมของการวิวัฒนาการจากปลาซึ่งเป็นสัตว์น้ำสู่สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ



เพศเมียใหญ่กว่าเพศผู้

สำหรับวิธีการดูเพศปลานั้น คุณศราวุธ บอกว่า เพศเมียจะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากกว่าเพศผู้อย่างชัดเจน เมื่อมีขนาดความยาวเท่ากัน ปลาตัวผู้จะมีลำตัวยาวเรียว ตัวเมียมีความลึกของลำตัวมากกว่าตัวผู้

ในฤดูวางไข่ปลาเพศเมียจะมีส่วนท้องอูมเป่ง และโคนหางของปลาเพศเมียหนากว่าเพศผู้ รังไข่และถุงน้ำเชื้อมีลักษณะยาวเป็นคู่ โดยรังไข่ที่เริ่มพัฒนามีลักษณะเป็นสีชมพูแก่และมีเม็ดไข่เป็นจุดสีขาวนวลเกิดขึ้นเล็กน้อย ต่อมาก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

"รังไข่ที่แก่จะมีไข่สีเหลืองและแยกออกเป็นสองพูอยู่เต็มบริเวณช่องท้อง รังไข่ที่แก่จัดจะเห็นเส้นโลหิตฝอย ถุงน้ำเชื้อในระยะแรกจะมีสีชมพูใส เมื่อพัฒนาสมบูรณ์ มีลักษณะสีขาวขุ่น แยกเป็น 2 สาย ซึ่งยึดติดกับบริเวณเนื้อเยื่อในช่องท้อง ในธรรมชาติพบอัตราส่วนเพศ ระหว่างเพศเมียต่อเพศผู้ เท่ากับ 1 ต่อ 1 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปลาเพศผู้มักมีความสมบูรณ์เพศต่ำและน้ำเชื้อมักมีน้อย ในการเพาะพันธุ์ มักใช้สัดส่วนปลาเพศเมียต่อเพศผู้ ประมาณ 1 ต่อ 2"คุณศราวุธ กล่าว



เตรียมบ่อเลี้ยงปลา

คุณศราวุธ บอกว่า หลังจากจับปลาขายทุกครั้งควรสูบน้ำออกจากบ่อให้แห้ง ซึ่งจะช่วยกำจัดศัตรูปลาที่หลบซ่อนอยู่ในบ่อ และขจัดของเสียด้วย

จากนั้นหว่านปูนขาวในขณะที่ดินยังเปียก ในอัตรา 100-200 กิโลกรัม ต่อไร่ เพื่อปรับสภาพความเป็นกรด-ด่าง ของดินและฆ่าพยาธิ

"นอกจากนี้ เราต้องกำจัดวัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำที่มีอยู่ในบ่อด้วย หากปล่อยไว้ต่อไปจะเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวของศัตรูปลาหมอ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก กบ และงู เป็นต้น และทำให้ปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำลดลง เนื่องจากพืชน้ำใช้ออกซิเจนในการหายใจเช่นเดียวกับปลา และหากมีพืชน้ำอยู่ในบ่อมาก จะเป็นอุปสรรคต่อการให้อาหารปลา และการจับปลาด้วย"คุณศราวุธ กล่าว

หลังจากดูดน้ำออกและกำจัดวัชพืชแล้ว ก็จะตากบ่อทิ้งไว้ 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้เพื่อให้ก๊าซพิษในดินบางชนิดสลายตัวไป ทั้งยังเป็นการฆ่าเชื้อโรค และศัตรูปลาที่ฝังตัวอยู่ในดินด้วย

ตากบ่อจนแห้งสนิท เขาก็ดูดน้ำเข้าในบ่อ โดยผ่านการกรองด้วยผ้าไนล่อน เพื่อป้องกันสัตว์น้ำหรือไข่ปลาชนิดอื่นๆ เข้ามาเจริญเติบโตภายในบ่อ และในที่สุดเข้าแย่งกินอาหารหรือเป็นศัตรู ไล่กัดกินลูกปลาหมอต่อไป

คุณศราวุธดูดน้ำเข้าบ่ออยู่ในระดับสูงครั้งแรก 60-80 เซนติเมตร พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอก ประมาณ 20-30 กิโลกรัม ต่อไร่ ลงไปด้วย จากนั้นทิ้งไว้ 2-3 วัน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดลูกไรหรืออาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนขึ้นภายในบ่อ

"ในบ่อนี้เราจะปล่อยพ่อแม่ปลาลงเลี้ยงหรือนำลูกปลาจากที่อื่นมาอนุบาลก็ได้ แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่แล้วจะนำพ่อแม่ปลามาปล่อยเลี้ยง เพื่อผสมพันธุ์ออกไข่ และอนุบาลลูกปลาภายในบ่อต่อไป ซึ่งก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยงทุกครั้งต้องมีอวนไนล่อนสีฟ้ากั้นรอบคันบ่อให้สูงจากพื้นประมาณ 90 เซนติเมตร เพื่อป้องกันศัตรูปลาและปลาหลบหนีออกจากบ่อ เนื่องจากปลาหมอมีนิสัยชอบปีนป่ายโดยเฉพาะในช่วงที่ฝนตก"คุณศราวุธ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น